โครงการวิจัย
การพัฒนาสารสกัดกระชายดำไมโครอิมัลชันสำหรับเพิ่มสมรรถภาพการสืบพันธุ์ในแพะเพศผู้
Development of Kaempferia parviflora Microemulsion Extract for Enhancing Reproductive Performance in Male Goats
รายละเอียดโครงการ
ปีงบประมาณ | 2568 |
หน่วยงานเจ้าของโครงการ | |
ลักษณะโครงการ | โครงการใหม่ |
ประเภทโครงการ | โครงการเดี่ยว |
ประเภทงานวิจัย | โครงการพื้นฐาน |
วันที่เริ่มโครงการวิจัย (พ.ศ.) | 1 ตุลาคม 2567 |
วันที่สิ้นสุดโครงการวิจัย (พ.ศ.) | 30 กันยายน 2568 |
วันที่ได้รับทุนวิจัย (พ.ศ.) | 27 มีนาคม 2568 |
ประเภททุนวิจัย | ทุน วช. |
สถานะโครงการ | อยู่ระหว่างดำเนินการ |
เลขที่สัญญา | N24A680722 |
เป็นโครงการวิจัยที่ใช้ในการจบการศึกษา | ไม่ใช่ |
เป็นโครงการวิจัยรับใช้สังคม | ไม่ใช่ |
บทคัดย่อโครงการ | แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยสามารถทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมได้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่เป็นคนไทยอิสลาม จึงทำให้แพะเป็นที่ต้องการเนื่องจากใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาและเพื่อการบริโภคในครัวเรือน แต่ปัญหาที่สำคัญหนึ่งของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะทางภาคใต้คือการขาดแคลนพ่อแพะพันธุ์ดี เนื่องจากพ่อพันธุ์มีราคาสูง โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ยังเป็นรายย่อย ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการซื้อพ่อพันธุ์หลายตัวมาคุมฝูง เกษตรกรส่วนมากจะมีแพะพ่อพันธุ์คุมฝูงเพียงตัวเดียว ซึ่งถึงแม้แพะจะเป็นสัตว์ที่มีความกำหนัดสูง แต่คุณภาพของน้ำเชื้อแพะพ่อพันธุ์บางตัวมีคุณภาพที่ไม่ดี ทำให้เกิดปัญหาการใช้งานพ่อพันธุ์ที่หนักเกินไป น้ำเชื้อแพะจึงเกิดปัญหาด้อยคุณภาพ เช่น จำนวนตัวอสุจิน้อย อัตราการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิต่ำ รูปร่างของตัวอสุจิมีความผิดปกติมากขึ้น โดยที่ปัญหาข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการเลี้ยงแพะของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ประสบกับ อัตราการผสมติดตํ่า อัตราการตายของลูกแรกคลอดสูง หรือคุณภาพซากของแพะขุนไม่ดี ส่งผลให้การเลี้ยงแพะไม่ยั่งยืนและอัตราการเพิ่มขนาดประชากรแพะในภาคใต้จึงยังอยู่ในระดับที่ตํ่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของภาครัฐในการเพิ่มปริมาณผลผลิตแพะและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาการเลี้ยงแพะให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอสำหรับการบริโภคและการส่งออก เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ สรรพคุณในตำรายาไทยของกระชายดำ ระบุว่าเป็นยาอายุวัฒนะและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ สำหรับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับฤทธิ์ทางชีวภาพและเภสัชวิทยาของกระชายดำที่สนับสนุนสรรพคุณที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศของกระชายดำ พบว่าสารสกัดจากเหง้ากระชายดำมีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของสัตว์ทดลองดีขึ้น และมีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์โดยเพิ่มนํ้าหนักของท่อพักเชื้ออสุจิ ถุงนํ้าอสุจิ ต่อมลูกหมาก และกล้ามเนื้อก้นของหนู สารสกัดจากเหง้ายังมีผลเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศของสัตว์ทดลอง มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบองคชาตของหนูแรท และกล้ามเนื้อเรียบอวัยวะเพศผู้ของคนที่ได้จากการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายตัว ทำให้เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศมากขึ้น และจากการศึกษาของคณะผู้วิจัยซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 เรื่องการเสริมกระชายดำเพื่อเพิ่มสมรรถภาพการสืบพันธุ์ในแพะเพศผู้ พบว่าการเสริมกระชายดำสดนำมาบดเป็นผงให้แพะกินในขนาด 500 มก./กก.(น้ำหนักสัตว์) เป็นระยะเวลา 30 วัน จะช่วยส่งเสริมสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ของแพะเพศผู้ได้ โดยส่งผลให้ปริมาตรของน้ำเชื้อ จำนวนตัวอสุจิที่รีดได้ และความสมบูรณ์ของเยื่อหุ้มเซลล์อสุจิเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรจะมีกำไรหลังหักต้นทุนค่ากระชายดำซึ่งนับว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะนำเทคโนโลยีนาโนมาแปรรูปกระชายดำ โดยพัฒนาเป็นสารสกัดไมโครอิมัลชัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมและการนำส่งสารออกฤทธิ์ในกระชายดำไปยังระบบสืบพันธุ์แพะให้ดีขึ้น ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งเสริมสมรรถภาพการสืบพันธุ์ในแพะพ่อพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถลดปริมาณของกระชายดำที่ใช้และลดระยะเวลาที่ทำการเสริมกระชายดำในแพะ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตแพะได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การส่งเสริมการใช้กระชายดำแทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์จะเป็นการเพิ่มผลผลิตลูกแพะและรายได้ให้แก่เกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG Model |
รายละเอียดการนำไปใช้งาน | |
เอกสารประกอบโครงการ |
|
ทีมวิจัย

ที่ | นักวิจัย | หน่วยงาน | ตำแหน่งในทีม | การมีส่วนร่วม (%) |
---|---|---|---|---|
1 | วิภาวี แสงสร้อย | คณะสัตวแพทยศาสตร์ ราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช | หัวหน้าโครงการ | 50 |
2 | ณัชธฤต ฤกษ์งาม | คณะสัตวแพทยศาสตร์ ราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช | ผู้ร่วมวิจัย | 20 |
3 | สุณิษา คงทอง | คณะสัตวแพทยศาสตร์ ราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช | ผู้ร่วมวิจัย | 30 |